Hypertension Update
สอบถามเรื่อง พบคุณหมอความดันโลหิตสูงค่ะ 19-11-2556 2299 View(s)
คำถาม : เนื่องจากมีอาการปวดหัวประจำ และเกรงจะเป็นความดันโลหิตสูง เนื่องจากคุณแม่และญาติๆเคยเป็น เกรงว่าจะเป็นกรรมพันธค่ะ รบกวนแนะนำคุณหมอความดันโลหิตสูงโดยตรงค่ะ ทั้ง โรงพยาบาล รัฐบาล
และโรงพยาบาลเอกชน ค่ะ ขอบคุณค่ะ

คำตอบ
การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง อิงตามนิยามสากล ดังนี้ครับ
1.โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) หมายถึง ระดับความดันซิสโตลิค (systolic blood pressure, SBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันไดแอสโตลิค (diastolic blood pressure, DBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท
2.Isolated systolic blood pressure (ISH) (ภาวะความดันซิสโตลิคสูงเพียงอย่างเดียว) หมายถึง ระดับความดันซิสโตลิค (systolic blood pressure, SBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท แต่ ความดันไดแอสโตลิค (diastolic blood pressure, DBP) น้อยกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
3.Isolated office hypertension หรือ Whilte coat hypertension (WCH) (ภาวะความดันโลหิตสูงเมื่อพบแพทย์) หมายถึง ภาวะที่ความดันโลหิตที่วัดที่คลินิก โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุข พบว่าสูง ระดับความดันซิสโตลิค (systolic blood pressure, SBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันไดแอสโตลิค (diastolic blood pressure, DBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่บ้านจาการวัดด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติพบว่าไม่สูง (ความดันซิสโตลิค น้อยกว่า 135 มิลลิเมตรปรอท และ ความดันไดแอสโตลิก น้อยกว่า 85 มิลลิเมตรปรอท)
4.Masked hypertension (ภาวะความดันโลหิตสูงหลบซ่อน) หมายถึง ภาวะที่ความดันโลหิตที่วัดในคลินิก โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุข พบว่าปกติ (ความดันซิสโตลิค น้อยกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันไดแอสโตลิก น้อยกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท) แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่บ้านจาการวัดด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติพบว่าสูง (ความดันซิสโตลิค มากกว่าหรือเท่ากับ 135 มิลลิเมตรปรอท และ ความดันไดแอสโตลิก มากกว่าหรือเท่ากับ 85 มิลลิเมตรปรอท)

คำแนะนำเมื่อวัดความดันโลหิต ได้สูง
1.เมื่อวัดความดันโลหิตได้มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ให้วัดความดันโลหิตซ้ำใน 2 สัปดาห์ หรือวัดความดันโลหิตที่บ้าน (home blood pressure monitoring, HBPM) หากสามารถทำได้ เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง
2.หากผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง (SBP มากกว่าหรือเท่ากับ 180 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ DBP มากกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิเมตรปรอท) หรือมีร่องรอยของการทำลายอวัยวะ (target organ damage, TOD) ให้เริ่มยาลดความดันโลหิตได้ทันที โดยไม่ต้องรอการวัดซ้ำ

ร่องรอยของการทำลายอวัยวะ (target organ damage, TOD) ได้แก่
ระบบหัวใจ หัวใจห้องล่างซ้ายโต (left ventricular hypertrphy, LVH)หรือ หัวใจวาย
ระบบไต โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease, CKD)
ระบบสมอง โรคหลอดเลือดสมอง
ระบบตา ความผิดปกติของจอตาจากโรคความดันโลหิตสูง (hypertensive retinopathy)
ระบบหลอดเลือดแดง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)

3.ขณะที่รอการยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้ส่งตรวจการหาการทำลายอวัยวะ และทำการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease)
4.หากพบว่าไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ผู้ป่วยมี การทำลายอวัยวะ ให้ส่งตรวจหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
5.หากพบว่าความดันโลหิตยังเป็นปกติ ให้ติดตามวัดความดันโลหิตผู้ป่วยที่คลินิกอย่างน้อยทุกปี และอาจวัดความดันโลหิตถี่กว่านั้น หากความดันโลหิตที่คลินิกใกล้ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
6.หากใช้เครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
6.1 การวัดความดันโลหิต กระทำในท่านั่ง โดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 นาที
6.2 วัดความดันโลหิต 2 ครั้งต่อวัน ควรวัดในตอนเช้า และตอนเย็น
6.3 ควรวัดความดันโลหิต อย่างน้อย 4 ถึง 7 วันติดต่อกัน ให้ตัดค่าที่วัดได้ในวันแรก และคำนวณค่าเฉลี่ยจากค่าที่วัดได้ทั้งหมด เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
7.การส่งต่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที (ในวันเดียกัน) ในกรณีที่
7.1 ผูู้ป่วยเป็น accelerated หรือ malignant hypertension หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิต มากกว่าหรือเท่ากับ 180/110 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับ ตรวจพบเลือดออกที่จอตา (retinal hemorrhage) และหรือ ขั้วประสาทตาบวม (papilledema)
7.2 สงสัยว่าผู้ป่วยจะเป็นโรค Pheochromocytoma เช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ใจสั่น ซีด เหงื่อแตก หรือตรวจพบ labile หรือ postural hypotension
8.พิจารณาการตรวจพิเศษ (หน้าที่ของผู้เชียวชาญ) ในผู้ป่วยที่มีอาการและสิ่งตรวจพบที่เข้าได้กับโรคความดันโลหิตสูงทุติยภูมิ (secondary hypertension)

การพบแพทย์
การพบแพทย์ผู้เชียวชาญ โรคความดันโลหิตสูง ในเบื้องต้น แนะนำพบแพทย์ด้านอายุรกรรม เพื่อทำการตรวจประเมินก่อน การพบแพทย์อายุกรรม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำหน่วยงานหลัก ที่ให้บริการประชาชน ทั้งในภาครัฐ และเอกชน นั้นขึ้นกับความประสงค์ ของผู้ป่วย และการวางแผนเรื่องสิทธิการรักษา เช่น ผูู้ป่วยใช้สิทธิชำระเงินเอง ประกันเอกชน หรือระบบของรัฐบาล เช่น บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า , ประกันสังคม หรือเบิกได้ เป็นต้น.