เป็นความดันมา 3 ครั้ง ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
3814 View(s)
คำถาม : เป็นความดันมา 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อ 13 พค 57 ความดัน 192
ครั้งที่ 2 เมื่อ 29 กพ 59 ความดัน 220
ครั้งที่ 3 เมื่อ 6 มิย 59 ความดัน 169
แบบนี้ต้องรักษาต่อเนื่องยังไงคะ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
--
ตอบ: ตามคำแนะนำแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ในฉบับปรับปรุง ปีพ.ศ.2558 ได้ให้แนวทางการวินิจฉัยความดันโลหิตสูง โดยพิจารณา
1.นิยามการวินิจฉัย โรคความดันโลหิตสูง หมายถึง ระดับความดันโลหิตซิสโตลิก (ตัวบน) มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือ ความดันไดแอสโตลิก (ตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท.
2.ความถูกต้องในการวัดความดันโลหิต โดยมีปัจจัยต่างๆ ได้แก่
2.1 การเตรี่ยมตัวผู้ป่วย โดยไม่ควรดื่มชาหรือกาแฟ ไม่สูบบุหรี่ ก่อนทำการวัดความดันฯ 30 นาที พร้อมกับถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย ให้ผู้ป่วยนั่งพักบนเก้าอี้ในห้องที่เงียบสงบ เป็นเวลา 5 นาที หลังพิงพนักเพื่อไม่ต้องเกร็งหลัง เท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้น ห้ามนั่งไขว่ห้าง ไม่พูดคุยขณะวัด แขนซ้าย หรือแขนขวาที่ต้องการวัดวางอยู่บนโต๊ะ ไม่ต้องกำมือ
2.2 การเตรียมเครื่องมือ โดยทั้งเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท (mercury sphygmomanometer) และเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอัตโนมัติ (automatic blood pressure measurement device) จะต้องได้รับการตรวจสอบมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะๆ และใช้ arm cuff ขนาดที่เหมาะสมกับแขนของผู้ป่วย ให้ส่วนที่เป็นถุงลม (bladder) จะต้องครอบคลุมรอบวงแขนผู้ป่วยได้ร้อยละ 80 สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป ซึ่งมีเส้นรอบวงแขน ยาวประมาณ 27-34 เซนติเมตร จะต้องใช้ arm cuff ที่มีถุงลมขนาด 16 เซนติเมตร x 30 เซนติเมตร
3.การประเมินความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง
การจำแนกระดับความดันโลหิต (มิลลิเมตรปรอท) จำแนกตามความรุนแรงในผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไป ได้ดังนี้ ครับ
ความดันซิสโตลิก SBP (มิลลิเมตรปรอท) ความดันไดแอสโตลิก DBP (มิลลิเมตรปรอท)
1.ความดันโลหิต ระดับ เหมาะสม (optimal) < 120 และ < 80
2.ความดันโลหิต ปกติ (normal) 120-129 และ/หรือ 80-84
3.ความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่เป็นโรคความดันโหลิตสูง (high normal)
130-139 และ/หรือ 85-89
4.โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1(Grade 1 mild) 140-159 และ/หรือ 90-99
5.โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 2(Grade 2 moderate)160-179 และ/หรือ 100-109
6.โรคความดันโลหิตสูง ระดับที่ 3 (Grade 3 severe) >/= 180 และ/หรือ >/= 100
7.ความดันโหลิตสูง ชนิดสูงเฉพาะความดันซิสโตลิก >/= 140 และ < 90
(Isolated systolic hypertension)
หมายเหตุ HT= hypertension; SBP= systolic blood pressure; DBP= diastolic blood pressure
เมื่อความรุนแรงของ SBP และ DBP อยู่ต่างระดับกัน ให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์
4.ข้อแนะนำ ข้อควรปฏิบัติ เมื่่อเป็นความดันโลหิตสูง
เมือวัดความดันโลหิต ได้มากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ให้วัดความดันโลหิตซ้ำใน 2 สัปดาห์ หรือวัดความดันโลหิตที่บ้าน (home BP monitoring) หากสามารถทำได้ เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง แต่หากผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง (ความดันซิสโตลิก มากกว่า หรือเท่ากับ 180 และหรือ ความดันดัยแอสโตลิก มากกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิเมตรปรอท) หรือมีร่องรอยของการทำลายอวัยวะ (target organ damage) ให้เริ่มยาลดความดันโลหิตทันที โดยไม่ต้องทำการรอวัดซ้ำ.
โดยขณะที่รอการยืนยันว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้ส่งตรวจหาการทำลายอวัยวะ เช่น หัวใจหัองล่าซ้ายโต (left ventricular hypertrophy), โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease), และความผิดปกติของจอตาจากโรคความดันโลหิตสูง (hypertensive retinopathy), และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease).
หากพบว่าไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ผู้ป่วยมีการทำลายอวัยวะ ให้ส่งตรวจหาสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิด.
หากพบว่าความดันโลหิตยังเป็นปกติ ให้ติดตามวัดความดันโลหิต อย่างน้อยทุกปี และอาจวัดความดันโลหิตถี่กว่านั้น หากความดันโลหิตที่วัดได้ ใกล้ 140/90 มิลลิเมตรปรอท.
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
1.การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยแนะนำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงทำทุกราย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และช่วยลดความดันโลหิตได้บ้าง ทำให้สามารถลดการใช้ยาลดความดันโลหิต หรือใช้น้อยลง. ประกอบด้วย
(1) การลดน้ำหนัก โดยให้ดัชนีมวลกาย เท่ากับ 18.5 ถึง 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะมีประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตซิสโตลิก ได้ 5 ถึง 20 มิลลิเมตรปรอท ต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม.
(2) การรับประทานอาหารประเภท DASH (Dietary Approach to Stop Hypertension) โดยให้รับประทานผัก ผลไม้ ให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว จะมีประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตซิสโตลิก ได้ 8 ถึง 14 มิลลิเมตรปรอท.
(3) การจำกัดเกลือในอาหาร โดยให้รับประทานเกลือโซเดียม ให้น้อยกว่า 100 มิลลิโมลต่อวัน หรือ 6 กรัมของโซเดียมคลอไรด์ต่อวัน จะมีประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตซิสโตลิก ได้ 2 ถึง 8 มิลลิเมตรปรอท.
(4) การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิค อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน จะมีประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตซิสโตลิก ได้ 4 ถึง 9 มิลลิเมตรปรอท.
(5) การลดการดื่มแอลกอฮอล์ โดยจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 2 ดริ้งค์ต่อวัน ในผู้ชาย และไม่เกิน 1 ดริ้งค์ต่อวันในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย
หมายเหตุ 1 ดริ้ง เทียบเท่ากับ 44 มิลลิลิตร ของสุรา (40 เปอร์เซ็นต์) , 355 มิลลิลิตรของเบียร์ (5 เปอร์เซ็นต์) , หรือ 148 มิลลิลิตรของเหล้าองุ่น (12 เปอร์เซ็นต์) จะมีประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตซิสโตลิก ได้ 2 ถึง 4 มิลลิเมตรปรอท.
2.การรักษาโดยการใช้ยาลดความดันโลหิต ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ.